สสช.ขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดจัดกิจกรรม ภายใต้หัวข้อ ‘A Good Digital Citizen’ ที่สงขลา

หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, สงขลา, ทั่วไป,

อ่าน : 167
สำนักงานสถิติแห่งชาติ A Good Digital Citizen ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน
สสช.ขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดจัดกิจกรรม ภายใต้หัวข้อ ‘A Good Digital Citizen’ ที่สงขลา

               สงขลา - สำนักงานสถิติแห่งชาติ เตรียมความพร้อมสำหรับการ เป็น A Good Digital Citizen หรือ การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ   บูรณาการเครือข่ายหน่วยงานภาคีในระดับจังหวัด จัดกิจกรรมสร้างความหนักรู้การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดและอำเภอ ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดสงขลา

    ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดและอำเภอ ภายใต้หัวข้อ A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” ครั้งที่ 2 โดยมี นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ และ นายจำลอง เก่งตรง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมฯ พร้อมกันนี้ยังมีหัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายหน่วยงานภาคีในระดับจังหวัด ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567

    นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ที่หลากหลาย ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้า การบริการ และการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ การนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหา และสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรม การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ รู้สึกดีใจและยินดีที่ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติมาจัดกิจกรรมที่จังหวัดสงขลา จึงขอเชิญชวนมาร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาจังหวัดสงขลาให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และก้าวไปสู่เป้าหมาย “สงขลาเมืองอัจฉริยะ : Songkhla Smart City”

    นายจำลอง เก่งตรง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้และพูดถึงกิจกรรมในวันนี้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รับการร่วมมือจากจังหวัดสงขลา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดสงขลา และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มาร่วมจัดนิทรรศการส่งเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัล มิติดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) และ มิติดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ) พร้อมทั้งการเสวนาหัวข้อ “Digital-Driven Communities : ปลอดภัย มั่นใจ ยั่งยืน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 เป็นผู้ร่วมเสวนา 

    ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านได้มาพร้อมกัน และเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในระดับจังหวัดและอำเภอ ภายใต้หัวข้อ A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การทำงาน การเรียนรู้ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาท และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปอย่างมาก ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลนำมาซึ่งความสะดวกสบาย แต่ก็มาพร้อมกับภัยคุกคามต่างๆ เช่นกัน อาทิ การหลอกลวงออนไลน์ การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือการแฮ็กข้อมูล ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นในวันนี้เราจะมาเตรียมความพร้อม สำหรับการเป็น A Good Digital Citizen หรือการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ‘ความเป็นพลเมืองดิจิทัล’ ประกอบด้วย ความรับผิดชอบ มีจริยธรรม เห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น มีส่วนร่วม และมุ่งเน้นความเป็นธรรม ในสังคม เพื่อรักษากฎเกณฑ์ สมดุล ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในโลกออนไลน์ ที่มีสมาชิกที่รวมคนทั่วโลกใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งทักษะของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี มีอยู่ 8 ทักษะ ได้แก่ 1.ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity) 2.ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) 3.ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking) 4.ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management) 5.ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management) 6.ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints) 7.ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management) 8.ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy) 

    ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับพื้นที่ โดยเน้นให้ประชาชนมีความรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ส่งเสริมการเป็น “พลเมืองดิจิทัลที่ดี” ซึ่งรวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ในชีวิตประจำวัน การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยออนไลน์ และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สสช.มีการจัดนิทรรศการและการประชาสัมพันธ์ กิจกรรม Roadshow ในแต่ละภูมิภาค เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครราชสีมา และภาคเหนือจังหวัดลำปาง 

    โครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนที่เข้าร่วม สามารถสร้างเครือข่ายอาสาสมัครอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนกิจกรรมทางด้านดิจิทัล ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านดิจิทัล ร่วมกับชุมชนในระดับท้องถิ่น เกิดเป็นโซ่ข้อกลาง ในการส่งเสริมการเข้าถึงดิจิทัลของประชาชน สร้างโอกาสและรายได้จากช่องทางดิจิทัลได้ และหวังว่าในปี พ.ศ.2568 จะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการในพื้นที่มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการให้สามารถขยายผลได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 มีการดำเนินงานโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนืองเป็น 878 อำเภอทั่วประเทศ โดยขยายครอบคลุมไปยังหมู่บ้าน/ชุมชน ที่เหลือให้ครอบคลุม พร้อมทั้งขยายผลไปยังกลุ่มเปราะบาง (เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ) ให้ได้รับโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูล เป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีทักษะดิจิทัล และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีร่วมกัน.










อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :