เครือข่ายขโมยรังนกฯ เตรียมขนย้ายหนีจากที่ซ่อน -ด้าน DSI บุกเกาะตรวจสอบ
หมวดหมู่ : การเมือง, เศรษฐกิจ, พัทลุง,
โฟสเมื่อ : 18 ก.ย. 2564, 22:24 น. อ่าน : 1,616พัทลุง-ดีเอสไอ บุกเกาะรังนกแล้ว หลังได้รับการร้องเรียนจาก อดีตรองนายก อบต.เกาะหมาก ให้เข้าไปตรวจสอบเพื่อพิจารณารับคดี ด้านบริษัทสัมปทานใหม่สรุปยอดเก็บรังนกขาวได้เพียง 34.79 กก. ขาดทุนแน่นอน ขณะเดียวกันคนในเครือข่ายขบวนการขโมยรังนกฯ เผยเครือข่ายเตรียมแผนขนย้ายรังนกที่ซุกซ่อนตามรีสอร์ตและที่เคยเก็บสินค้าหนีภาษี เพื่อหนีการจับกุม โดยวางแผนใช้รถที่มีตราของหน่วยงาน และพรรคการเมืองบังหน้า
กรณีขบวนการขโมยรังนก เข้าไปขโมยรังนกอีแอ่นในถ้ำ 7 ถ้ำ บนหมู่เกาะสี่เกาะห้า อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ก่อนการส่งมอบให้กับ บริษัทที่รับสัมปทานใหม่ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 และจากตรวจสอบภายในถ้ำต่างๆ พบว่าขบวนการขโมยรังนกใช้วิธีการที่โหดเหี้ยม ก่อกองไฟใช้ควันไฟไล่แม่นกที่กำลังฟักไข่ และทำลายนกไปกว่า 1 ล้านตัว มูลค่าความเสียกว่า 5,000 ล้านบาท สร้างความเศร้าสลดใจแก่ทีมเก็บรังนก และประชาชนที่ติดตามข่าว ในขณะที่ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.(สส.) ที่ได้รับมอบหมายจาก ผบ.ตร. ให้ลงไปเร่งรัดสืบสวนเรื่องดังกล่าว ได้ให้ทีมงานรวบรวมข้อมูลเพื่อลงพื้นที่ วันที่ 19 ก.ย.นี้ ตรวจสอบ และเร่งรัดขยายผลคดีล่อซื้อรังนกที่ขโมยมาขาย สืบสวนถึงเครือข่ายขบวนการขโมยรังนกให้ได้โดยเร็ว
ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยแหลมทอง ซึ่งทำงานร่วมกับทีมข่าวเฉพาะกิจหนังสือพิมพ์ส่วนกลางรายงานว่า เมื่อตอนบ่ายวันนี้ (18 ก.ย.2564) พ.ต.ต.ภิภพ มะโรหบุตร ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 9 (ศปพ.9) ดีเอสไอ ได้นำเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงการขโมยรังนกบนเกาะรังนก จากการร้องเรียนของนายกรีณรงค์ ชาตรี อดีตรองนายก อบต.เกาะหมาก และอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 กรุงเทพมหานคร พรรคชาติไทยพัฒนา โดย พ.ต.ต.ภิภพ ได้ติดต่อพนักงานบริษัท สยามเนสท์ 2022 จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ เข้าตรวจสภาพพื้นที่ที่ตั้งสำนักงานของบริษัทฯ บนเกาะรังนก สอบถามรายละเอียดต่างๆ จากนั้น พ.ต.ต.ภิภพ ได้เดินเท้าไปยังถ้ำเนียงเคย เกาะเทวดา เพื่อสำรวจเส้นทางต่างๆ และจุดที่สามารถเห็นการเข้าออก รวมถึงการขโมยรังนก พบว่าการเก็บรังนกในถ้ำดังกล่าวนั้น จะต้องผ่านสำนักงานฯ เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น
ก่อนเดินทางกลับ พ.ต.ต.ภิภพ เปิดเผยว่า การเดินทางมายังเกาะรังนกในครั้งนี้นั้น เบื้องต้นต้องการมาดูสภาพความเป็นจริง อาทิ การจัดเก็บรังนก จำนวนของกลาง และรายละเอียดอื่นๆ จากทางบริษัทฯ หลังจากนั้นจึงจะมีการวางแผนเตรียมงานว่าจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนกันอย่างไรในการรับคดี
ด้านนายกรีณรงค์ อดีตรองนากย อบต.เกาะหมาก ผู้ร้องเรียนให้ ดีเอสไอไปตรวจสอบเรื่องการขโมยรันนกครั้งนี้ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สาเหตุที่ตนร้องเรียนดีเอสไอ ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม เพราะเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินถูกทำลายอย่างย่อยยับ นกวัยอ่อนถูกทำลายไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านตัว มูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ขบวนการขโมยรังนกครั้งนี้มิใช่เป็นโจรธรรมดาๆทั่วไป ทาง จนท.รัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มคนร้ายดังกล่าวอย่างจริงจัง และเรื่องดังกล่าวนี้ตนได้เข้าแจ้งความกับ พงส.สภ.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน อีกด้วย
ส่วนการเก็บรังนกอีแอ่นวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมเก็บรังนกของบริษัทฯเปิดเผยว่า การจัดเก็บรังนกทั้ง 7 เกาะ ในหมู่เก่าะสี่เกาะห้า จำนวน 107 ถ้ำได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อตอนเย็นวันที่ 17 ก.ย. ถ้ำสุดท้ายที่เก็บคือในถ้ำดำ พบว่าภายในถ้ำมีนกวัยอ่อนนอนตายเกลื่อนพื้นถ้ำ และเก็บรังนกได้รวมกันได้เพียง 0.06 ก.ก. เท่านั้น ส่วนที่หน้าปากถ้ำมีการก่อกองไฟของคนร้าย ได้พบขยะจำพวกขวดน้ำ ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง และรองเท้าสีขาว สำหรับการเก็บรังนกในครั้งที่ 3 ปี 2564 ทางบริษัทฯเก็บได้เพียงรังนกขาว 34.79 กก.และ รังนกดำ 197.76 กก. ในขณะที่เปรียบเทียบช่วงเดียวกันในปี 2563 บริษัทเก็บรังนกขาวได้ 812.39 กก. และรังนกดำ 1,263.50 กก. ส่วนขยะบนเกาะที่ขบวนการขโมยรังนกทิ้งไว้เก็บได้มากจำนวน 883.5 กก.
“เริ่มต้นรับสัมปทาน บริษัทฯ จ่ายเงินประกันสัญญา 64 ล้านบาท จ่ายเงินวดแรก 80 ล้านบาท รวม 44 ล้านบาทในวันเซ็นสัญญา ส่วนการเสียภาษีอากรรังนกนั้นในต้นเดือนตุลาคม 2564 จะต้องจ่ายอีก 21 ล้านบาท เมื่อเก็บรังนกได้น้อย ถือว่าขาดทุน ส่วนการเก็บรังนกนั้นจะมีการแจ้งให้ทางจังหวัดทราบล่วงหน้า 15 วัน หลังจากนั้นภายใน 30 วัน หลังจัดเก็บแล้ว จะต้องแจ้งยอดเก็บจำนวนรังนกให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นบนเกาะ รังนกที่ถูกขโมยนั้นเกิดก่อนการส่งมอบเกาะ เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน อยู่ภายใต้การดูแลของทางจังหวัดฯ ทางบริษัทจึงไม่สามารถไปแจ้งความได้” ทีมเก็บรังนกของบริษัทฯกล่าว
ทางด้านนายบุญพา เกื้อทอง อดีต สจ.พัทลุง และอดีตผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรังนกฯในสมัยที่ผ่านมา เปิดเผยว่า คณะกรรมการังนกจากท้องถิ่น 7 รายนั้น ตนถือว่าขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถรวมพลังกันปกป้องรังนกได้ กรรมการรังนกฯมี 12 คน เป็นคนในท้องถิ่น 7 คน อีก 5 คน เป็น จนท.รัฐโดยตำแหน่ง ได้รับเบี้ยเลี้ยงการประชุมครั้งละ 3,000 บาท แต่คณะกรรมการรังนกฯชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เด็ดขาด ทำไมไม่คิดจัดประมูลกันล่วงหน้า ประมูลกันหลายครั้งทำไมไม่จัดการประมูลโดยกรณีพิเศษ สมัยตนดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ร่วมกับนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง จัดประมูลรังนกในครั้งที่แล้วได้สูงถึง 450 ล้าน น่าเสียดายค่าเบี้ยเลี้ยงประชุมคนละ 3,000 บาท.
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จากการติดตามเส้นทางการลำเลียงรังนกที่ขโมยจากเกาะสี่เกาะห้านั้น ขบวนการขโมยรังนกมีการวางแผนแบ่งรังนกที่ขโมย ออกเป็นส่วนๆ แยกนำซุกซ่อนไว้ในพื้นที่พัทลุง สตูล และสงขลา บางส่วนก็ส่งขายในตลาดมืดและนายทุนที่ติดต่อรับซื้อไว้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังขนย้ายไปไม่หมด หลังจากมีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ขบวนการรังนกจึงเก็บตัวเงียบ เพื่อรอโอกาสที่จะขนย้ายรังนกที่ซุกซ่อนไว้ไปยังชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากคนในเครือข่ายขบวนการขโมยรังนกว่า ช่วง 3-5 วันนี้ จะมีขนย้ายรังนกที่โขมยมาครั้งใหญ่จากที่ซ่อนในรีสอร์ตแห่งหนึ่ง รวมทั้งแหล่งที่เคยเป็นสถานที่พักสินค้าหนีภาษี เพื่อหลบหนีการตรวจสอบ เนื่อง จากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เริ่มเข้ามาตรวจสอบ โดยจะมีการใช้รถยนต์ที่มีตราของหน่วยงาน และพรรค การเมืองในการขนย้ายไปลงเรือ จึงฝากผ่านสื่อมวลชนเสนอข่าวให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรีบเร่งสืบสวนจับกุม และตรวจตราให้ดี ส่วนที่บอกจุดชัดเจนตรงๆ ไม่ได้ เกรงจะเป็นอันตราย ซึ่งข่าวคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป.