ประกาศ 11 ผู้รับรางวัล "โพธิคยานาคาธิบดี" ปีแรก

หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, ภาคกลาง,

อ่าน : 610
รับรางวัล “โพธิคยานาคาธิบดี” ประจำปี 2566
ประกาศ 11 ผู้รับรางวัล "โพธิคยานาคาธิบดี" ปีแรก

นนทบุรี-ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือก ผู้ได้รับรางวัล “โพธิคยานาคาธิบดี” ประจำปี 2566 ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และมีศรัทธาเรื่องพญานาค ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก จำนวน 3 สาขาได้แก่ สาขาสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนา สาขาพุทธศิลป์ และสาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนารวมจำนวน 11 รางวัล มีพระสงฆ์ 2 รูป ฆราวาส 5 คนคณะบุคคล 1 คณะ และองค์กร 3 องค์กร 


       เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 เวลา 09.30 น. สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ร่วมกับคณะพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และมูลนิธิวิระภุชงค์ แถลงข่าวประกาศรายชื่อผู้ได้รับ “รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ประจำปี 2566” ที่ห้องประชุม บรษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด อ.เมือง จ.นนทบุรี และจะมีการมอบรางวัลในวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สวนสาธารณะองค์พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ให้พระพุทธศาสนา และเป็นผู้มีศรัทธาในบารมีธรรมขององค์พญานาค โดยมีดร.วินัย วีระภุชงค์ ประธานมูลนิธิวีระภุชงค์ เป็นประธานในการแถลงข่าว มี พระเมธีวรญาณ คณบดีคณะพุทธศาสตร์มจร ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ นางสาวทิพย์วรรณ วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ และดร.อภัย จันทนจุลกะ ประธานคณะกรรมการรางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ร่วมแถลง


       ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของรางวัลนี้ว่า “สืบเนื่องจากการเดินทางธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มนำโขงที่ผ่านมา พบว่าทุกวัดมีเรื่องราวและรูปปั้นพญานาค สถาบันฯ จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง”  ขึ้น ซึ่งมีคณะผู้วิจัยจากคณะพุทธศาสตร์ มจร เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัย โดยมีเป้าหมายนำองค์ความรู้ “ความเชื่อเรื่องพญานาค” ยกระดับให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง และขอขึ้นทะเบียนรายการต่อองค์การยูเนสโก “ในการนี้ เพื่อต่อยอดและขยายผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรม เพื่อจุดมุ่งหมายสนับสนุนการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา อันเป็นเป้าหมายหลักของสถาบันฯ รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อค้นหาและยกย่องเชิดชูเกียรติผู้อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา โดยถอดความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคในด้านการเจริญทางพุทธิปัญญา และด้านการสร้างศรัทธาให้เกิดพลังนำมาเป็นแนวทางในการทำงานพัฒนาตนเองและสังคมสู่สันติสุข” ดร.สุภชัยกล่าว


       พระเมธีวรญาณ คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร กล่าวถึงบทบาทพญานาคในพระพุทธศาสนาว่า “พญานาคเป็นผู้มีบทบาททางความเชื่อที่สอนให้คนรู้จักละความชั่ว ทำความดี สัญลักษณ์ของพญานาคคือความประเสริฐ การไม่หวนกลับมาสู่สิ่งที่ไม่ดี และเป็นผู้มีจิตใจมั่นคงดั่งภูผาวนาลี สิ่งเหล่านี้ปรากฏออกมาในรูปแบบประติมากรรมสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และได้รับการนำไปประยุกต์ใช้เป็นศิลปะอีกหลายแขนง ด้วยความที่พญานาคคือพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และด้วยความเชื่อว่าพญานาคคือผู้มีส่วนในการปกปักรักษาพระพุทธศาสนา จึงควรค่าอย่างยิ่งแก่เคารพยกย่องบูชา ในความเสียสละประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของมวลมหาชน” 


       การจัดพิธีมอบรางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ครั้งแรกนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.อภัย จันทนจุลกะ เป็นประธานคณะกรรมการรางวัลโพธิคยานาคาธิบดี และเป็นประธานมอบรางวัลให้แก่บุคคล คณะบุคคล และองค์กร จำนวน 3 สาขาจำนวน 11 รางวัล ได้แก่


       1.รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี สาขาส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ประเภทบุคคล จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ วรทสฺสี,ป.ธ. 9, ปร.ด.) เจ้าคณะภาค 10, เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม 2.พระเทพวัชราจารย์(เทียบ สิริญาโณ, ป.ธ.9, รศ.ดร.) รองเจ้าคณะภาค 5 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 3.ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด 


       2.รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี สาขาส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ประเภทองค์กร จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1. พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2.องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก 3. ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 


       3.รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี สาขาพุทธศิลป์ ประเภทบุคคล จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ 1. อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทรศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) ประจำปีพุทธศักราช 2546 และ 2. นายวัชราศิลป์ พิสิษฐ์กูล จิตรกรอัจฉริยะรุ่นเยาว์ ศิษย์อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ 


       4.รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี สาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนา ประเภทบุคคล จำนวน 2 รางวัล ได้แก่  1. นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)  2. นายศิริชัย บุญชิต หรือ หนึ่งนาคา ผู้ผลิตรายการและพิธีกรรายการคนหัวนาค และเจ้าของวังแสนมนต์ตรา ลานธรรมปู่องค์ดำแสนศิริจันทรา-ย่ามณีจันทรา 


       5.รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี สาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนา ประเภทคณะบุคคล จำนวน 1 รางวัล ได้แก่รายการตามรอยนาคา ช่องยูทูปนาคาทีวี ดำเนินรายการโดยนายพศิน เรืองวุฒิ และผลิตรายการโดยคณะบุคคลรายการตามรอยนาคา  


       นางสาวทิพย์วรรณ วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ ผู้สนับสนุนการจัดงานรางวัลโพธิคยานาคาธิบดี กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มีส่วนในการสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าประสงค์มูลนิธิวีระภุชงค์ที่ต้องการสนับสนุนกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และขอร่วมแสดงความยินดีและอนุโมทนาบุญกับผู้ที่ได้รับรางวัลโพธิคยานาคาธิบดีทั้ง 11 รางวัล ซึ่งล้วนเป็นผู้อยู่ในเส้นทางแห่งกุศลความดีในทำงานด้านการสนับสนุนการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา ออกมาให้สาธารณะชนได้รู้จักอย่างเป็นรูปธรรม


       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับรางวัล”โพธิคยานาคาธิบดี”แล้ว ดร.วินัย วีระภุชงค์ ประธานมูลนิธิวีระภุชงค์ ได้เป็นประธานในพิธลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) ว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาและงานวิจัย ระหว่างคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 กับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และ มูลนิธิวีระภุชงค์ โดย พระเมธีวรญาณ คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร และ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

 และ น.ส.ทิพย์วรรณ วีระถุชค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการโดยความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการตั้งเป้าหมายร่วมกันในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา 


       ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีกรอบและแนวทางพอสรุป คือเพื่อสนับสนุน และต่อยอดงานวิจัยด้านพระพุทธศาสนาทั้งในระดับชาติและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้ได้สรุปงานวิจัยชุดแรกไปแล้วในหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” ภายใต้แผนการวิจัยหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง” และมีแผนลงพื้นที่ศึกษาวิจัยในหัวข้อเดียวกันที่ลาว 

กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา เร็วๆ นี้ สำหรับความร่วมมือในด้านการจัดการการบริการวิชาการแก่สังคมด้วยหลักสูตรพระพุทธศาสนาระยะสั้น ปีนี้มีแผนงานจัดโครงการร่วมกันเปิด “หลักสูตรภาวะผู้นำที่มั่นคงในวิถีพุทธ” (พุทโธปนายิกศาสตร์

 Buddhopanāyikasartra Programme).






















อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :