มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ฯ ชู “ทุเรียนป่าละอู” ผลผลิตคุณภาพสหกรณ์ฯ ห้วยสัตว์ใหญ่
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป, ภาคกลาง,
โฟสเมื่อ : 21 ก.ค. 2565, 14:27 น. อ่าน : 878 ประจวบคีรีขันธ์
(ภาคกลาง) - มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท
หนุนการพัฒนาโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ ต่อเนื่อง ชู “ทุเรียนป่าละอู”
ผลผลิตคุณภาพสหกรณ์ฯ ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นแบรนด์สินค้าท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า
“ทุเรียนป่าละอู”
จากทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในพื้นที่ ป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน
พื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุจากดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ
กลายเป็นสายพันธุ์ทุเรียนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเนื้อหนาสีเหลืองอ่อน
กลิ่นไม่ฉุน รสชาติมันมากกว่าหวาน เนื้อแห้งเนียนละเอียด ไม่มีเส้นใย เนื้อเยอะ
เมล็ดเล็ก เมื่อปี 2554
ทุเรียนป่าละอูจึงได้รับการขึ้นทะเบียน Geographical Indication
(GI) เป็นแบรนด์สินค้าท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า
ปัจจุบันทุเรียนป่าละอูเป็นที่รู้จักของผู้ที่ชื่นชอบทุเรียน
และถือเป็นผลผลิตขึ้นชื่อของ สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ต.ห้วยสัตว์ใหญ่
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่บริหารงานโดยโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่
โดย นายพรไชย บัวคล้าย ประธานสหกรณ์ฯ ผู้นำที่มีความเข้มแข็ง มุ่งสร้างการถ่ายทอดงานและเชื่อมโยงให้เกิดความต่อเนื่อง
มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
ปัจจุบันมีชาวสวนทุเรียนขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก 50 ราย มีจำนวนต้นทุเรียนกว่า
15,000 ต้น
เกษตรกรสมาชิกส่งให้กับสหกรณ์ในฐานะธุรกิจรวบรวมผลผลิตและเป็นผู้จำหน่าย โดยมีกระบวนการการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ
มีการควบคุมคุณภาพสินค้า อาทิ การตัดทุเรียนที่ความสุก 80%
และติดบาร์โค้ดไว้ทุกผลเพื่อรับประกันผลผลิต โดยปี 2564 สามารถจำหน่ายผลผลิตรวม 44
ตัน มูลค่า 7.7 ล้านบาท และในปี 2565 นี้ คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิตทั้งหมด จำนวน 60 ตัน
“การรวมกลุ่มของเกษตรกร
โดยมีสหกรณ์รับซื้อผลผลิตและจัดจำหน่าย ทำให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด
เกษตรกรจึงมีรายได้ที่ดี มีผลประกอบการเพิ่มสูงขึ้น
สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานที่มีคุณภาพของสหกรณ์ฯ
นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น
โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ต่อยอดเสริมสร้างความเข้มแข็ง
ส่งเสริมความรู้และพัฒนาอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ถ่ายทอดองค์ความรู้
รวมถึงประสานความร่วมมือโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่
9 ทรงมีพระราชดำรัสให้กับหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาช้างป่าให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งมูลนิธิฯ
เป็นผู้ประสานหน่วยธุรกิจของเครือซีพี มอบตู้คอนเทนเนอร์ 3 ตู้ ให้กับสหกรณ์ฯ
ไว้ใช้เก็บผลผลิตในฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู เพื่อรอส่งจำหน่าย
ช่วยป้องกันปัญหาช้างป่าได้” นายพรไชย กล่าว
นอกจากนี้ มูลนิธิฯ
ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมผู้ปลูกกาเเฟให้แก่สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ฯ
เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ที่มั่นคงเเละยั่งยืน รุ่นแรกมีเกษตรกร
เข้าร่วม 50 คน โดยอบรมในหัวข้อ การคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
วิธีการเตรียมแปลงและขั้นตอนในการปลูกพร้อมการดูแลบำรุงต้น
และการเก็บเกี่ยว
นอกจากนั้นยังถ่ายทอดให้เห็นถึงประโยชน์ เเละแนวโน้มทิศทางการตลาดของกาแฟ
ซึ่งเกษตรกรมีทั้งผู้ที่ปลูกกาแฟอยู่แล้ว และไม่เคยปลูกกาแฟเลยแต่มีความสนใจ
โดยส่วนมากเป็นการปลูกแซมไม้ผลชนิดอื่น เช่น ทุเรียน มะนาว มะม่วง
สำหรับผู้ที่ปลูกกาแฟมีทั้งที่ได้ผลผลิต และยังไม่ได้ผลผลิต สิ่งที่เกษตรกรกังวลจะเป็นห่วงเรื่องการดูแลรักษา และด้านการตลาด การอบรมครั้งนี้จะทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพการเกษตร
สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่
เป็นหนึ่งในความสำเร็จของโโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ ที่
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ภาคภูมิใจ
จากวัตถุประสงค์ในระยะแรกเน้นด้านความมั่นคงของชาติเป็นหลัก
และปรับสู่การดำเนินโครงการฯ ตามแนวพระราชดำริ โดยใช้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ
สังคม และพัฒนาสมาชิกให้รู้รักสามัคคี
ยึดหลักช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
สะท้อนความสำเร็จตามแนวพระราชดำริอย่างแท้จริง
นายจอมกิตติ
ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ
บอกถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จด้านการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรว่า เกิดจากการพัฒนาผู้นำสหกรณ์ฯ
ให้มีความรู้อย่างต่อเนื่อง และสร้างชุมชนมีความเข้มแข็ง
มีความมุ่งมั่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะพัฒนาท้องถิ่นชุมชนให้มีความเป็นอยู่
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การที่มูลนิธิฯ ส่งเสริมทักษะความรู้
สนับสนุนให้คนในชุมชนเกิดการทำงานร่วมกัน
เชื่อมต่อถ่ายทอดการดำเนินงานจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ผู้นำสามารถส่งไม้ต่อคนรุ่นถัดไปได้อย่างดี
นำไปสู่ผลดำเนินงานที่เกิดความคล่องตัว
“มูลนิธิฯ
มุ่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาของสรกรณ์ฯอย่างบูรณาการ ทำให้ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ
มีทัศนคติที่ดี สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างต่อเนื่อง
พร้อมปลูกฝังให้เยาวชนลูกหลานสหกรณ์มีแนวคิดที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม
สร้างจิตสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิด ผ่านการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนอย่างต่อเนื่อง
ทำให้พวกเขาได้ให้เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มระบบสหกรณ์ และสร้างสมาชิกผู้นำรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นต่อไป
ส่วนเรื่องอาชีพ มูลนิธิฯ
ได้ดำเนินการส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์มีทางเลือกอาชีพเสริมเพิ่มรายได้
ด้วยการจัดหลักสูตรการปลูกกาแฟ โดยมีแผนที่จะสร้างอาชีพนี้ให้ยั่งยืน
โดยมีสหกรณ์เป็นผู้รวบรวม นำไปสู่การแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลผลิตในอนาคตด้วย” นายจอมกิตติ
กล่าว
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของหมู่บ้านสหกรณ์ฯ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ควบคู่กับกิจกรรมด้านสังคม ในโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์จำนวน 7 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา และเชียงใหม่ โดยเน้นรูปแบบการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพและผู้นำสหกรณ์ ผ่านการฝึกอบรมศึกษาดูงาน และส่งเสริมอาชีพเสริม อาทิ การปลูกไม้ผลผสมผสาน การเลี้ยงไก่พื้นเมือง และการเลี้ยงแพะ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างชุมชนเข้มแข็ง ดำเนินการคู่ขนานไปกับการพัฒนาผู้นำและสมาชิกสหกรณ์ โดยการส่งเสริมการทำธุรกิจเกษตร สนับสนุนให้ผู้นำและสมาชิกมีความรู้ความเข้าใจการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันผลิตและจำหน่าย ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการตลาด ควบคู่กับการจัดค่ายสร้างเสริมคุณธรรม สืบสานและต่อยอด โครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อปลูกจิตสำนึกสร้างทัศนคติเยาวชนลูกหลานสหกรณ์ รักแผ่นดินถิ่นเกิด
ความสำเร็จของ
สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นภาพสะท้อนความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชดำริ
ในด้านการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต อยู่ดีกินดี
มีความสุข นับเป็นอีกผลลัพธ์ของเป้าหมายสร้าง 4 ดี “คนดี พลเมืองดี อาชีพดี
และสิ่งแวดล้อมดี” ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ร่วมสานต่อความมุ่งมั่นเพื่อขจัดความยากจนอย่างยั่งยืนแก่ชาวไทย.